Tag Archives: กบฎ

“ว่าด้วยรัฐธรรมนูญไทย”

รัฐธรรมนูญในประเทศไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นักนิติศาสตร์คนสำคัญคนหนึ่งของไทยได้แสดงความเห็นไว้ว่า ข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ใน พ.ศ. 1826 อาจเทียบได้กับมหาบัตร แม็กนา คาร์ต้า อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษ จึงอาจถือได้ว่า ศิลาจารึกดังกล่าวเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เพราะในศิลาจารึกนั้นได้กล่าวถึงสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้น กล่าวคือ ได้บอกว่าอาณาจักรของพ่อขุนรามคำแหงนั้นมีอาณาเขตเพียงใด บอกว่าพ่อขุนรามคำแหงได้อำนาจมาอย่างไร และในส่วนของประชาชนก็มีการกล่าวถึง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล และก็ยังได้มีการกล่าวถึงหลักประกันความยุติธรรมไว้ด้วย

อย่างไรก็ดีข้อเสนอของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็มีข้อโต้เถียงในหมู่นักวิชาการด้านต่างๆ ดังนี้คือ ข้อความในรัฐธรรมนูญนั้นควรจะมีลักษณะเป็นกฎหมาย แต่ความมุ่งหมายในการจารึกในศิลาจารึกนั้นล้วนแต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าศิลาจารึกจะมีลักษณะเป็นกฎหมายแต่อย่างใด หากจะให้ถูกต้องก็ต้องบอกว่า เป็นเพียงหลักฐานว่ามีกฎหมายว่าเอาไว้เช่นนั้น เท่านั้น หรือถ้าจะให้ถูกต้องมากขึ้นไปอีกก็ต้องบอกว่าข้อความในศิลาจารึกก็แค่ได้พรรณนา บรรยาย สภาพบ้านเมือง ประชาชนในยุคนั้นไว้

ในตอนต้นกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าอู่ทองนั้น เราได้รับเอาคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ของอินเดียมาจากมอญ ซึ่งมอญเรียกว่าพระธรรมสัตถัม ไทยเราก็เรียกเสียใหม่ว่าพระธรรมศาสตร์และใช้กันมานานร่วม 500 ปีจนค่อยๆ ถูกทดแทนด้วยกฎหมายใหม่ๆ
พระธรรมศาสตร์เป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินจะตรากฎหมายอื่นมาขัดหรือแย้งไม่ได้ จะตั้ง ส.ส.ร.มาร่างใหม่ก็ไม่ได้ ศาลเองก็ตัดสินคดีให้ผิดไปจากพระธรรมศาสตร์ไม่ได้ ดูๆ ไปแล้วพระธรรมศาสตร์ทำท่าจะเป็นรัฐธรรมนูญอย่างนั้นแหละ เพียงแต่ไม่ได้พูดถึงแต่เรื่องการเมืองการปกครอง หากยังกล่าวถึงเรื่องทางแพ่ง ทางอาญาในชีวิตประจำวันด้วย และไม่ได้พูดถึงเรื่องการยุบพรรค นี่ถ้าพระธรรมศาสตร์พูดถึงเรื่องรูปแบบการปกครองเสียนิด วิธีการปกครองเสียหน่อย เราก็คงจะตีขลุมเอาว่าไทยเรามีรัฐธรรมนูญใช้มานานแล้วก็ได้

เมื่อใดที่พระธรรมศาสตร์เกิดช่องว่าง ไม่มีบทบัญญัติใด ๆ จะนำมาใช้ปรับแก่คดี พระธรรมศาสตร์ไม่ได้ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่จะอนุญาตให้ตรากฎหมายขึ้นอุดช่องโหว่ช่องว่างได้ทีละฉบับ กฎหมายเหล่านี้เรียกรวมกันว่า “พระราชศาสตร์”

รัฐธรรมนูญนิยมในประเทศไทย

แนวคิดเรื่อง “รัฐธรรมนูญนิยม” และ “ขบวนการรัฐธรรมนูญนิยม” ในประเทศไทยนั้นได้เริ่มก่อตัวกันมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรทีเดียว โดยเริ่มตั้งแต่กลุ่มก้าวหน้า ร.ศ. 103 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5, เทียนวรรณ และ ขบวนการ ร.ศ. 130 (กบฏเก็กเหม็ง) ในสมัยรัชกาลที่ 6 กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้มีการเรียกร้องให้มีการใช้รัฐธรรมนูญ ให้มีรัฐสภาหรืออีกนัยหนึ่งก็คือให้ยุติการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วสร้างระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมาแทน แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่เป็นผลจนกระทั่ง คณะราษฎร์ (อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2475

รัฐธรรมนูญในประเทศไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7 ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เพื่อวางระเบียบการปกครองแบบใหม่โดยไม่มีพิธีรีตองในการพระราชทาน
พระราชบัญญัตินี้ถ้าจะว่าไปแล้วก็คือรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั่นเอง และควรถือว่า วันที่ 27 มิถุนายนเป็นวันรัฐธรรมนูญ แต่เพราะไม่ได้เรียกชื่อตัวเองว่า “รัฐธรรมนูญ” (เพราะยังไม่รู้จัก) ทั้งยังเป็นฉบับชั่วคราวใช้ไปพลางก่อน และยังไม่สมบูรณ์นักเนื่องจากไม่ได้ระดมความคิดในเวลาร่าง จึงมีข้อตกลงกันเองในหมู่ผู้ก่อการหรือคณะราษฎรและระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายอำนาจเดิมในขณะนั้นว่าจะต้องมีการยกร่างระเบียบการปกครองฉบับใหม่มาใช้แทนโดยเร็ว

ผลจากการนี้คือเมื่อมีการตั้งรัฐบาลขึ้นแล้วสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นยกร่างฉบับใหม่ทันที อนุกรรมการส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายชั้นนำของประเทศโดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรหรือหัวหน้ารัฐบาลเป็นประธาน หลักการของกฎหมายใหม่นี้มาจาก 5 ทาง คือ หลักการเดิมของคณะราษฎร ความคิดของคณะอนุกรรมการยกร่างเอง แนวทางที่ประธานรับไปกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชดำริ การศึกษาเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ และความเห็นเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎร

ระหว่างนั้นก็มีข้อเสนอแนะอื่นเข้ามามากมาย เช่นจาก ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณและหลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ที่เสนอให้เรียก “รัฐธรรมนูญ” และอีกหลายเรื่องซึ่งคณะอนุกรรมการเห็นชอบด้วยเป็นส่วนใหญ่

เมื่อการยกร่างสำเร็จลงและสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบได้เสร็จภายในเวลาประมาณ 5 เดือนนับจากวันยึดอำนาจซึ่งนับว่าเร็วมาก รัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอให้จัดพิธีพระราชทานเป็นทางการ พระธรรมวโรดม (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศเป็นโหรสำคัญได้คำนวณพระฤกษ์ว่าควรจัดในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 หรือวันอื่น ๆ อีก 2-3 วัน ที่เนิ่นนานไปจนถึงเดือนมกราคมก็มี รัฐบาลพิจารณาแล้วถวายความเห็นว่าควรเป็นวันที่ 10 ธันวาคมช่วงบ่าย

วันนั้นจัดเป็นพิธีสำคัญ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม รัชกาลที่ 7 ทรงเครื่องพระบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจน สิงหาสน์ แต่ไม่ทรงพระมหาสังวาล ของรัชกาลที่ 1 และไม่โปรดฯ ให้ทอดพระแท่นมนังคศิลารับสั่งว่าเมื่อรักษาอำนาจของท่านไว้ไม่ได้ก็ไม่ควรใช้ของท่าน พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วพระราชทานเจ้าพระยาพิชัยญาติประธานสภาผู้แทนราษฎร

เสร็จพิธีได้เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคมมีการเชิญพานรัฐธรรมนูญออกให้ประชาชนที่รออยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าชมท่ามกลางเสียงไชโยกึกก้อง รัฐบาลให้จัดงานเฉลิมฉลองทั่วประเทศ งานอย่างนี้ยังจัดต่อมาอีกหลายปีเรียกว่างานวันรัฐธรรมนูญและมีการประกวดนางสาวสยาม (นางสาวไทย) ด้วยทุกปี

ฤกษ์ของเจ้าคุณธรรมฯ แรงเอาการเพราะรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกนี้ใช้มาถึง 14 ปี และได้ย้อนกลับมาใช้อีกหนในปี 2495-2502 อีก 7 ปี (มีแก้ไขบ้าง) นับตามลำดับก็ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของไทยและมีอายุยืนยาวที่สุด แต่เพราะใช้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกและเป็นฉบับถาวรรวมทั้งเพื่อความปรองดองกับทุกฝ่ายไม่ให้สะเทือนใจจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน เราจึงให้วันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันรัฐธรรมนูญ แม้นับมาถึงบัดนี้เรามีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นฉบับที่ 19 และก็ยังมีที่ท่าว่าจะมีฉบับที่ 20 ก็ตาม