Monthly Archives: กุมภาพันธ์ 2013

“สิทธิ” และ “เสรีภาพ” 1

เมื่อกล่าวถึงสิทธิ (Right) และเสรีภาพ (Liberty) หลายคนคงเข้าใจว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้สืบเนื่องจากเรามองเพียงว่าเราได้แสดงอาการใช้สิทธิและเสรีภาพของเราออกไปอย่างไร และมีใครมาโต้แย้งการใช้สิทธิและเสรีภาพของเราหรือไม่เท่านั้นโดยไม่ได้พิจารณาถึงเนื้อหาว่าสิ่งที่กฎหมายรับรองให้นั้น มันเป็น “สิทธิ” หรือเป็น “เสรีภาพ”กันแน่ ทั้งที่ความจริงแล้ว สิทธิกับเสรีภาพก็มีความแตกต่างกันอยู่ เพราะหากว่าเป็นสิ่งเดียวกันแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องใช้คำที่แตกต่างกัน

คำว่าสิทธิและเสรีภาพนี้ บ่อยครั้งได้ถูกนำมาเขียนหรือพูดติดกันเป็นคำเดียวกันคือ “สิทธิเสรีภาพ” และใช้กันบ่อยมากจนกลายเป็นความเคยชินว่าเป็นคำเดียวกัน แต่ที่ถูกควรจะเขียนแยกกันหรือไม่ก็ใช้คำสันธานเชื่อม กล่าวคือ สิทธิและเสรีภาพ เช่น สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ

การกล่าวอ้างว่าเรามีสิทธิหรือมีเสรีภาพอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะกระทำการต่างๆตามที่กฎหมายรับรองไว้นั้นจะก่อให้เกิดผลเหมือนกันคือทำให้เกิดความชอบธรรมในการใช้อำนาจนั้นและขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นที่จะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของเราส่งผลทำให้เกิดความสับสนว่าสิ่งใดเป็นสิทธิและสิ่งใดเป็นเสรีภาพ ซึ่งความสับสนนี้ได้มีปรากฏให้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบางช่วงเวลาก็กำหนดให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเสรีภาพ แต่ต่อมาในอีกยุคสมัยหนึ่งก็กำหนดให้เรื่องเดียวกันนั้นกลายเป็นสิทธิ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๔๘๙ มาตรา ๑๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหะสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคณะพรรคการเมือง การอาชีพ ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมายแต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ มาตรา ๓๔ วรรคแรก กลับบัญญัติว่า สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครองขอบเขตต์และการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทำให้เกิดข้อพิจารณาว่าสิ่งที่กฎหมายเคยรับรองว่าเป็นเสรีภาพนั้นเพราะเหตุใดจึงกำหนดให้สิ่งเดียวกันกลายเป็นสิทธิขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม การที่จะแบ่งแยก “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” ออกจากกันอย่างเด็ดขาดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้ เพราะแม้ว่าโดยสารัตถะของสิทธิและเสรีภาพนั้นจะมีความแตกต่างกันอยู่ก็ตาม แต่ในการใช้การตีความก็ต้องนำมาวินิจฉัยประกอบกันเสมอ ในขณะเดียวกันการที่ละเลยไม่พิจารณาที่เนื้อหาว่าสิ่งที่กฎหมายได้รับรองให้นั้นเป็น “สิทธิ” หรือเป็น “เสรีภาพ” โดยยังปล่อยให้มีการใช้กันอย่างสับสนอยู่ต่อไปก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเช่นกันเพราะอาจทำให้มีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยอาศัยช่องว่างดังกล่าว

แนวความคิดอันเป็นที่มาพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพ

แนวความคิดเรื่องของสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ เริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ในยุคกรีกอริสโตเติล กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ย่อมมีเสรีภาพในการเลือก และด้วยเหตุผลที่ถูกต้องย่อมช่วยให้เขาเข้าถึงธรรมชาติได้ และ ณ จุดนี้เองคือเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์” โดยแนวความคิดนี้ถือว่า มนุษย์นั้นมีเสรีภาพอยู่แล้วตามกฎธรรมชาติ ภายใต้เหตุผลที่ถูกต้องเนื่องจากภูมิปัญญาของมนุษย์ ต่อมาเริ่มมีแนวความคิดว่ามนุษย์ตามธรรมชาตินั้นมีสิทธิเสรีภาพมาก และเมื่อทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ก็ไม่มีอำนาจในการบังคับซึ่งกันและกันหากไม่มีการลดเสรีภาพของแต่ละคนลงมา การกระทบกระทั่งตลอดจนการขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นในสังคมได้ผู้อ่อนแอต้องตกเป็นทาสและถูกจำกัดเสรีภาพหมด การมีเสรีภาพโดยไม่มีขอบเขตจึงเป็นเหตุใหญ่ให้เกิดการไร้เสรีภาพ การเข้ามารวมเป็นสังคมยอมรับอำนาจการเมืองเหนือตนเป็นรูปแบบการปกครองต่างๆ ก็เพื่อให้อำนาจสูงสุดนั้นสูงเหนือทุกคนเป็นกรรมการคอยรักษากติกาไม่ให้ผู้เข้มแข็งกว่าใช้เสรีภาพโดยไม่มีขอบเขตรังแกผู้อ่อนแอกว่า

หลักการของสิทธิและเสรีภาพโดยเจตนารมณ์ร่วมกันของปวงชนนั้นพัฒนามาสู่ปัจจุบัน โดยมีการกำหนดวางหลักของสิทธิและเสรีภาพ เงื่อนไขและหลักการจำกัดสิทธิของประชาชน โดยถือว่าการที่ราษฎรต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยนั้น ก็เพราะประสงค์จะให้ตนมีสิทธิและเสรีภาพนั้นเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของประเทศต่างๆ ใน

ปัจจุบันจะมีบทบัญญัติกำหนดเรื่องสิทธิและเสรีภาพไว้ทั้งสิ้น

ความหมายของ “สิทธิ” และ “เสรีภาพ”

“สิทธิและเสรีภาพ” เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเพราะมักจะถูกนำมาอ้างในการกระทำการ หรือห้ามมิให้กระทำการ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐกระทำการหรือโต้แย้งการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐ และยังถือว่าเป็นคำที่มีความสำคัญต่อพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

สิทธิมีลักษณะสำคัญ ได้แก่

(๑) สิทธินั้นจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของสิทธิที่จะเลือกใช้สิทธิ สิทธิจะเป็นการรับรองให้เจ้าของสิทธิมี “อำนาจ” สามารถ “ใช้” สิทธินั้นได้ หรืออาจจะไม่ใช้สิทธินั้นได้ตามเจตจำนงของเจ้าของสิทธิ ในบางกรณีก็อาจจะให้ผู้อื่นใช้สิทธิของตนแทนได้ ซึ่งการให้ผู้อื่นใช้สิทธิแทนนี้มักพบในกฎหมายแพ่ง

(๒) สิทธินั้นเรียกร้องให้ผู้อื่นมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิของตนนั้น กล่าวคือ ถ้าเป็นสิทธิในทางแพ่ง จะสามารถเรียกร้องต่อทรัพย์ (ทรัพยสิทธิ) บุคคลอื่นมีหน้าที่ต้องยอมรับและไม่ละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์อันผู้อื่นมีสิทธิอยู่นั้น หรือเรียกร้องให้บุคคลดำเนินการหรือไม่ดำเนินการ (บุคคลสิทธิ) หรือในทางกฎหมายมหาชน สิทธินั้นจะเรียกร้องให้รัฐโดยหน่วยงานของรัฐ กระทำการ หรือไม่กระทำการใดๆ เพื่อตนได้ ทุกกรณีนั้นแสดงถึง “หน้าที่” ที่ผู้อื่นจะกระทำต่อสิทธินั้น กล่าวคือในทุกสิทธิจะมีหน้าที่ต่อผู้อื่นเสมอ

(๓) สิทธิจะเกิดขึ้นก็แต่โดยกฎหมายเท่านั้น เนื่องจากสิทธิเป็นเรื่องของอำนาจและหน้าที่ที่จะบังคับต่อบุคคลอื่นหรือรัฐ ปัจเจกชนทั่วไปจะบังคับต่อบุคคลอื่นหรือรัฐได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิของตน และกำหนดหน้าที่ต่อบุคคลอื่นเท่านั้น จริงอยู่แม้ในทางแพ่งบุคคลมีสิทธิจะทำนิติกรรมผูกพันได้โดยเสรี และนิติกรรมนั้นก็อาจจะเกิดสิทธิทางแพ่งขึ้นก็ได้ แต่การที่

บุคคลสามารถทำนิติกรรมกันได้นั้นก็ต้องชอบด้วยเงื่อนไขที่กฎหมายได้กำหนดไว้ด้วย ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยกฎหมายเท่านั้น โดยกฎหมายอาจจะกำหนดสิทธิไว้โดยชัดเจนหรือให้อำนาจแก่ปัจเจกชนไปกำหนดก่อตั้งสิทธิระหว่างกันและกันได้โดยเสรี ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนสิทธิต่อรัฐนั้นก็ชัดเจนว่าต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติเท่านั้น

ส่วนคำว่า “เสรีภาพ” (Liberty) นั้น แปลว่า “ความมีเสรีหรือสภาพที่ทำได้โดยปลอดอุปสรรค สภาพที่มีสิทธิที่จะทำ จะพูดได้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น” กล่าวขยายความได้ว่าเสรีภาพเป็นอำนาจอันชอบธรรมที่กฎหมายรับรอง และคุ้มครองแก่บุคคลที่จะกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ตามที่เขาต้องการได้โดยอิสระ หรือโดยปลอดจากอุปสรรคหรือการบังคับขัดขวางเสรีภาพจึงก่อหน้าที่ตามกฎหมายให้รัฐและบุคคลอื่นที่จะต้องเคารพและไม่ไปรบกวน ขัดขวางการใช้เสรีภาพของเขา

อย่างไรก็ดี อาจมีกรณีที่ก่อให้เกิดความสับสนได้ คือ กรณีของ “สิทธิในเสรีภาพ” (Freiheitsrecht) กล่าวคือ โดยลำพังของเสรีภาพนั้น ไม่ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่น เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการที่จะนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ในแง่นี้มิได้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นแต่อย่างใด แต่หากกล่าวว่า “สิทธิในเสรีภาพ” นั้นหมายความว่าบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิที่จะใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองในความหมายนี้ ย่อมก่อให้เกิดความผูกพันต่อบุคคลอื่น กล่าวคือ บุคคลย่อมมีหน้าที่ที่จะไม่ละเมิดการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของบุคคลนั้น ตัวอย่างสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญของเยอรมันได้บัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพไว้ในมาตรา ๒ โดยในวรรคหนึ่งเป็น “เสรีภาพทั่วไปในการกระทำการ” โดยถือว่าเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐานหลัก”(Muttergrundrecth) ซึ่งจากสิทธิและเสรีภาพหลักดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสรีภาพเฉพาะเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ในกรณีที่มีการแทรกแซงในสิทธิและเสรีภาพโดยอำนาจรัฐในกรณีนี้ย่อมถือว่าสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวมีสถานะเป็น “สิทธิในการป้องกันตามกฎหมายมหาชน” อันเป็นสิทธิที่อาจเรียกร้องให้รัฐดำเนินการเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองได้อย่างสมบูรณ์