Tag Archives: แม็กนา คาร์ต้า

“ว่าด้วยรัฐธรรมนูญ”

รัฐธรรมนูญนั้นถือว่าเป็นกฎหมายหลักในการบริหารประเทศ วางกรอบ กฎ กติกาใหญ่ๆ ไว้ กฎหมายใดจะมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ หรือถ้าขืนไปแย้งเข้าก็เป็นอันว่ากฎหมายนั้นใช้ไม่ได้ ทุกรัฐทุกประเทศล้วนแต่มีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้นไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นรัฐเผด็จการหรือประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญก็คือกฎเกณฑ์หลักในทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐและอำนาจรัฐนั่นเอง ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงมีลักษณะพิเศษที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการคือ

1. เป็นกฎหมายสูงสุดเหนือกฎหมายทั้งปวง

2. เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักและวิธีการในการปกครองประเทศตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจต่าง ๆ (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ)

3. เป็นกฎหมายหลักในการบังคับใช้ การเปลี่ยนแปลงแก้ไข และการตีความที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากกฏหมายธรรมดา

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันต่อไปคือ คำว่า “รัฐธรรมนูญ” กับ “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ซึ่งสองคำนี้บางครั้งสร้างความสับสนงุนงงให้กับผู้คนทั่วไปได้เช่นกัน

“กฎหมายรัฐธรรมนูญ” เป็นคำกว้างซึ่งคลุมถึงรัฐธรรมนูญด้วยกล่าวคือหมายถึง ตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรและจารีตประเพณีการเมืองการปกครองที่รับรู้กันในทางปฏิบัติ รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมายที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญและที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้รัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติโดยทั่วไปแล้วนั้นเรามักจะเรียกชื่อกฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศว่ารัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส แต่จะไม่เรียกว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายชนิดหนึ่งก็ตาม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญนิยม

แนวความคิดเรื่อง “รัฐธรรมนูญนิยม” (Constitutionalism) ก็คือแนวคิดที่ต้องการสร้างรัฐธรรมนูญที่มีความเหมาะสม สมบูรณ์แบบขึ้นมาเพื่อเป็นหลัก กติกาสำคัญในการปกครอง รับรองหลักการที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน หลักที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพ หลักที่ว่าด้วยการปกครองโดยใช้หลักนิติธรรม หลักที่ว่าการปกครองด้วยเสียงข้างมาก ดังนั้น รัฐธรรมนูญนิยมกับประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเคียงคู่กันตลอดไป
แนวความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยมนี้ได้เกิดขึ้นมานานแล้วในประเทศตะวันตกทั้งในยุโรปและอเมริกา ซึ่งจุดกำเนิดแท้จริงมาจากความคิดที่จะลดอำนาจและควบคุมการใช้อำนาจของกษัตริย์ไม่ให้มีมากจนเกินไป และที่สำคัญก็คือแนวความคิดในการที่จะรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้รอดพ้นจากการกดขี่ข่มเหงของผู้ปกครอง

ในประเทศอังกฤษการเกิดขึ้นของมหาบัตรแม็กนา คาร์ต้า ในปี ค.ศ. 1215 ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการรัฐธรรมนูญนิยม เพราะเนื้อหาสาระของเรื่องนี้ก็คือการจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวมานั่นเอง

กล่าวคือ พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษเป็นคนโหดร้ายทารุณ ชอบใช้อำนาจตามอำเภอใจ ชอบทำสงครามและขยายดินแดน เมื่อยกทัพไปที่ใดก็มักจะมีคำสั่งให้ราษฎรในละแวกนั้นออกมาต้อนรับปรนนิบัติกองทัพ มีการเรียกเก็บภาษีอากรอย่างไม่เป็นธรรม ตลอดจนมีการลงโทษราษฎรด้วยความอยุติธรรม จนสร้างความเดือดร้อนไปทั่วดินแดนอังกฤษ จนในที่สุดประมาณกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1215 เหล่าขุนนางและพระราชาคณะจำนวน 25 คนได้ทำการบีบบังคับ (ยึดอำนาจเงียบ) ให้พระเจ้าจอห์นลงนามในเอกสารสำคัญฉบับหนึ่ง ซึ่งบางส่วนดัดแปลงมาจากกฎหมายแห่งคลาเรนดอนในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 1 และเฮ็นรี่ 2 และบางส่วนก็ได้ร่างขึ้นใหม่เหมาะแก่กาลสมัย จุดมุ่งหมายก็เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอันเกิดจากการกระทำของพระเจ้าจอห์นนั่นเอง เอกสารสำคัญฉบับนี้ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่มักจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า “มหาบัตร” (The Great Charter) และต่อมาภายหลังได้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการเป็นภาษาลาตินว่า “แม็กนา คาร์ต้า” (Magna Carta) ซึ่งก็แปลว่า “มหาบัตร” อีกนั่นแหละ

“แม็กนา คาร์ต้า” ประกอบด้วยบทบัญญัติทั้งสิ้น 60 มาตรา อันเป็นความประสงค์ของเหล่าขุนนางและพระราชาคณะที่จะจำกัดอำนาจของพระเจ้าจอห์นและรัฐบาลของพระองค์ทั้งสิ้น หมวดสุดท้ายถึงกับมีการมีการกำหนดไว้ว่า หากพระเจ้าจอห์นและรัชทายาทไม่รักษาคำมั่นสัญญาตามมหาบัตรนี้คณะขุนนาง 25 คนมีสิทธิที่จะยึดอำนาจและทำการเปลี่ยนพระมหากษัตริย์ได้

ในประเทศฝรั่งเศสนั้นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญนิยมมาจากปฏิกิริยาที่มีต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในศตวรรษที่ 17 ที่ได้ใช้อำนาจบารมีของตนในการปกครองบ้านเมืองมากกว่าที่จะใช้กฎระเบียบแนวรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครอง และจากการมีอำนาจบารมีแบบเบ็ดเสร็จขาดนี่เองทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ยืนยันกับข้าราชบริพาร และประชาชนทั้งหลายว่า “ข้านี่แหละคือรัฐ” (I’Etat C’est moi) ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของปกครองนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ปัญญาชนร่วมสมัยเกิดปฏิกิริยาต่อต้านและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางสังคมขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็คือการสร้างรัฐธรรมนูญที่ผู้ปกครองรัฐจะต้องให้ความเคารพเช่นเดียวกับประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง ทำให้เกิดการปฏิวัติใหญ่ในปี ค.ศ. 1789 ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการจัดทำปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง เมื่อ 26 สิงหาคม 1789 มีทั้งสิ้น 17 มาตรานั้นได้มีการกำหนดเรื่องหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างชัดเจน

ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมได้แพร่กระจายเข้าไปในอเมริกา ผ่านทางผู้อพยพจากยุโรปซึ่งต้องการที่จะแสวงหาเสรีภาพทางการเมืองทางสังคม ตลอดจนแสวงหาโอกาสในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการมีหลักประกันเรื่องสิทธิภาพจากผู้ปกครองอาณานิคม จนในที่สุดสงครามประกาศเอกราชจากอังกฤษก็เกิดขึ้น และรัฐธรรมนูญแห่งฟิลาเดลเฟียก็ได้ปรากฏโฉมขึ้น ในปี ค.ศ. 1787 ซึ่งได้กลายมาเป็นรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ฉบับแรกของโลก

ขบวนการแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยมนั้นมีเป้าหมายครอบคลุมอยู่สามเรื่องหลัก ๆ ได้แก่ ประการแรก การขจัดระบอบเผด็จการให้หมดสิ้นไป ไม่ว่าจะเป็นที่การใช้อำนาจโดยพลการของผู้ปกครองหรือการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง ประการที่สอง การกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะต้องมีความชัดเจน ไม่คลุมเคลือขาดความแน่นอนหรือขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้กำหนด เพราะเป็นกฎเกณฑ์ที่ทุกคนในสังคมต้องปฏิบัติตาม และ ประการที่สาม ได้แก่ เรื่องการสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันทางการเมืองอันจะนำไปสู่การเมืองที่มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพในที่สุด

ส่วนเรื่องความเป็นมารัฐธรรมนูญในประเทศไทยนั้นจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไปครับ